ข้อมูลโรงเรียน

ประวัติโรงเรียน

 

         ประวัติเดิมโรงเรียนนี้อาศัยศาลาการเปรียญ  วัดกลางโนนแดง  ชื่อเดิมว่าโรงเรียนบ้านเขว้า ๒    (วัดกลางโนนแดง) ผู้จัดตั้ง  และจัดการสอนสืบแทนได้ความว่า  โรงเรียนตั้งขึ้นเมื่อใด  ไม่มีหลักฐานปรากฏ  เป็นแต่เพียงอาศัยเจ้าอาวาสวัด  และพระภิกษุเป็นผู้ทำการสอน  โดยยังไม่มีหลักสูตรในการสอน

                 พ.ศ.๒๔๕๘  ขุนบัญชาคดี  นายอำเภอเมืองชัยภูมิ  ได้สั่งย้ายนักเรียนซึ่งเรียนอยู่ที่วัดบึงแวง  มาจัดทำการสอนรวมกันที่วัดกลางโนนแดงแห่งเดียว  โดยสาเหตุที่ศาลาวัดบึงแวงชำรุด  แต่วิธีการดำเนิน ขณะนั้นจัดการสอนอย่างไรไม่มีหลักเกณฑ์  อาศัยพระภิกษุ  สามเณร  ผู้ที่มีความรู้พอสอนได้เข้าทำการสอน  โดยที่ทะเบียนบัญชี  หลักสูตรและตารางสอนไม่มี  การสอนของพระภิกษุก็เพียงแต่สอนเพื่อการกุศลเท่านั้น

                 พ.ศ.๒๔๖๘  หลวงสิทธิการภักดี   เป็นนายอำเภอเมืองชัยภูมิ    ขุนสวัสดิ์วิธีสอน    เป็นศึกษาธิการจังหวัด (เรียกธรรมการ) ได้แก้สภาพโรงเรียนเดิมให้มีสภาพดีขึ้น  โดยจัดหาครูที่มีความรู้มาสอนและจัดให้ มีทะเบียนบัญชี หลักสูตรและตารางการสอนขึ้น ได้แต่งตั้งให้นายคำมี  ลาภเกิด  เป็นครูใหญ่อาศัยเงินการศึกษาประชาบาล   เป็นเงินเดือนครู  การศึกษาค่อยเจริญขึ้น

      พ.ศ.๒๔๗๘   ขุนสรรพกิจโกศล  (กิมโล้   ปัทมสุนทร)  นายอำเภอเมืองชัยภูมิ   ได้ขยายขอเปิดใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาถึงตำบลนี้   และเกณฑ์เด็กที่มีอายุในเขต  ๑๐ - ๑๕  ปี  เข้าโรงเรียนได้ควบคุมกิจการของโรงเรียนให้เป็นไปตามระเบียบแบบแผนของกระทรวงธรรมการ  ได้ดีขึ้นและจัดให้มีเจ้าหน้าที่ประจำ  ได้เรียกครูโรงเรียนต่าง ๆ   เข้าอบรมวิธีสอนให้ดีขึ้น  มีการปรับปรุงการปกครอง   การดำเนินงาน  ตลอดจนมีการเรียกครูใหญ่เข้าประชุมอบรม

                พ.ศ. ๒๔๗๙  ทางราชการได้สั่งย้ายนายคำมี  ลาภเกิด  ครูใหญ่ไปเป็นครูใหญ่โรงเรียนประชาบาล  ตำบลตลาดแร้ง   ๓   (วัดหนองอ้อ)  และได้ย้าย   นายสิงโห  นเรกุล  จากโรงเรียนประชาบาล  ตำบลชีลอง      (วัดบริบูรณ์)    มาเป็นครูใหญ่โรงเรียนนี้แทน    ขณะนั้นมีครูทำการสอน     ๓  คน  ได้ดำเนินกิจกรรมของโรงเรียนตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการทุกอย่าง  และปีนี้ได้ขออนุญาตจัดตั้งกองลูกเสือขึ้นเป็นกอง  ช.ย. ๕๐ จนถึงปัจจุบัน โดย นายสิงโห  นเรกุล  เป็นผู้กำกับกองลูกเสือ  เวลานั้นมีลูกเสือประมาณ ๒๕  คน   และลูกเสือสำรองอีก    ๑๖   คน   ปีนี้ได้ครูเพิ่ม    ๑  คน  รวมเป็น  ๔  คน

                พ.ศ. ๒๔๘๐  เมื่อวันที่   ๑๒  กรกฎาคม   ๒๔๘๐  ทางราชการสั่งย้าย  นายลิ  นนท์ภักดี    ครูใหญ่โรงเรียน บ้านเขว้า  ๑ (วัดกลางบ้านเขว้า)  มาเป็นครูใหญ่โดยย้ายนายสิงโห  นเรกุล  ครูใหญ่โรงเรียนนี้ไปเป็นครูใหญ่โรงเรียนประชาบาล  ตำบลชีลอง (วัดบริบรูณ์) ขณะนั้นมีนักเรียน  ๒๙๓  คน มีครูสอน  ๓  คน

                พ.ศ.๒๔๘๑ -๒๔๙๙   มีครูประมาณ  ๗  คน   มีนักเรียน  ๓๗๖   คน  การสอนโรงเรียนนี้สอนตามแบบเก่าและแบบเบสิคปนกัน    การเรียนการสอนไม่ค่อยสะดวก   เพราะอาศัยศาลาวัด   นายลิ    นนท์ภักดี  ครูใหญ่    พร้อมคณะครู    กำนัน    ผู้ใหญ่บ้าน    พ่อค้าประชาชน  ได้ร่วมกันจัดหาเงินและวัสดุ   เพื่อเตรียมก่อสร้างโรงเรียนเอกเทศถาวร  ซึ่งได้จัดเตรียมหาวัสดุสะสมไว้แต่แรกก็ได้พอสมควรแล้ว    แต่ก็ยังไม่พอที่  จะปลูกเป็นตัวโรงเรียนได้  ต้องรองบประมาณของทางราชการต่อไป

                พ.ศ. ๒๕๐๑  มีครู  ๗  คน  มีนักเรียน  ๓๖๙ คน ในปีนี้งบประมาณของทางราชการสมทบทุนสร้างโรงเรียน  ๔๕,๐๐๐  บาท  (สี่หมื่นห้าพันบาทถ้วน)  เห็นว่าพอจะสร้างเป็นตัวอาคารเรียนได้แล้วจึงได้ทำการปลูกสร้างโรงเรียนเอกเทศถาวรขึ้น  โดยมีขนาด ๕ ห้องเรียน  ขนาด  ๓x ๙  เมตร  และได้ต่อเติมมุขด้านข้างอีก    ๑  ห้องเรียน  โดยได้ ยกพื้นมุงหลังคา  คิดค่าแรงและวัสดุต่าง ๆ   เป็นเงินรวมทั้งสิ้น    ๖๗,๗๐๐  บาท     ยังขาดประตูหน้าต่าง    ได้ขอความช่วยเหลือจากประชาชน   และทางราชการอีกเพื่อจัดสร้างให้เสร็จต่อไป

วันที่   ๑๖   พฤศจิกายน  ๒๕๐๑  ได้ย้ายโรงเรียนจากศาลาวัดมาเปิดทำการสอนที่โรงเรียนสร้างใหม่   จึงทำการเรียนการสอนสะดวกยิ่งขึ้น   แต่ยังถูกลม และฝนรบกวน    เพราะโรงเรียนยังไม่มีฝาและประตูหน้าต่าง

พ.ศ.๒๕๐๒  มีครูทั้งหมด   ๗  คน  นักเรียน  ๓๗๘  คน  การเรียนการสอนปีนี้ทำการสอนแบบเก่าควบคู่แผนใหม่  ในปีการศึกษานี้ทางราชการได้สั่งย้าย  นายลิ  นนท์ภักดี  ครูใหญ่  ไปดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนบ้านโนนหมาว้อ  และสั่งให้นายแดง  พึ่งภูมิ    รักษาการแทนครูใหญ่ของโรงเรียนในเวลาต่อมา

                พ.ศ. ๒๕๐๖   เดือนตุลาคม  ทางราชการได้แต่งตั้งให้  นายเปี่ยม    แสนนามวงษ์    มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนนี้ โดยมีครู   ๑๑ คน  นักเรียน   ๔๑๒ คน    การเรียนการสอนก็ดำเนินการตามปีก่อน

                พ.ศ.๒๕๐๗  ทางราชการได้ย้าย  นายบุญมา  ชัยเนตร  ครูใหญ่โรงเรียนบ้านเขว้า  มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่ที่โรงเรียนนี้   ในปีนี้มีครูตามอัตรากำลังถึง    ๑๔  คน  แต่ทำการสอนที่โรงเรียนเพียง   ๑๐ คน  นอก นั้นไปช่วยราชการ   ที่โรงเรียนบ้านเขว้า

                พ.ศ.๒๕๐๙  วันที่   ๑   ตุลาคม    ทางราชการได้เปลี่ยนแปลงวงการศึกษาเป็นการใหญ่คือ  ได้โอนโรงเรียนประชาบาล   มาขึ้นกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด   และขอให้ข้าราชการครูโอนมาเป็นข้าราชการบริหารส่วนจังหวัดด้วย   ฝ่ายกระทรวงศึกษาธิการคงช่วยเหลือทางด้านวิชาการอยู่  แต่ครูก็ยังอยู่ในความดูแลของคุรุสภาเช่นเดิมในการโอนเช่นนี้รัฐบาลได้แก้กฎหมายต่าง ๆ ถึง   ๗  ฉบับ   เพื่อใช้สิทธิ์ต่าง ๆ ของ ครูยังคงเดิม

                พ.ศ.๒๕๑๖   ทางราชการได้แต่งตั้งให้  นายทองดี    พันธ์สง่า  มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่   แทน

นายบุญมา   ชัยเนตร  ที่ย้ายไปดำรงตำแหน่ง  ครูใหญ่โรงเรียนบ้านหลุบโพธิ์

                พ.ศ. ๒๕๒๑ โรงเรียนได้เปิดทำการสอนในระดับชั้น  ป.๑ – ป.๖

                พ.ศ.๒๕๒๓  โรงเรียนบ้านโนนแดง ได้โอนมาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ  กระทรวงศึกษาธิการ 

                พ.ศ.๒๕๒๗  ทางราชการได้แต่งตั้งนายเกรียงศักดิ์  กำเนิดคำ  เป็นอาจารย์ใหญ่

                พ.ศ.๒๕๒๘  ทางราชการได้ย้ายนายเกรียงศักดิ์  กำเนิดคำ  ไปเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนบ้านเขว้าศึกษา  แล้วย้ายนายสมศักดิ์  วงศ์บุตร  มาเป็นอาจารย์ใหญ่แทน

                พ.ศ.๒๕๓๐  ทางราชการได้ย้ายนายสมศักดิ์   วงศ์บุตร  ไปเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนบ้านเขว้าศึกษา แล้วย้ายนายเกรียงศักดิ์  กำเนิดคำ  กลับมาเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนอีกครั้ง

                พ.ศ.๒๕๓๗  ทางราชการได้แต่งตั้งนายเกรียงศักดิ์  กำเนิดคำ  ไปเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนบ้านหว้าเฒ่า  แล้วย้ายนายคณิต  ธัญญะภูมิ  อาจารย์ใหญ่โรงเรียนยางนาดีราษฏร์ดำรง   มาดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนบ้านโนนแดง

พ.ศ. ๒๕๔๖  โรงเรียนบ้านโนนแดง  โอนมาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาชัยภูมิ   เขต   ๑ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน    กระทรวงศึกษาธิการ

                พ.ศ. ๒๕๕๒โรงเรียนบ้านโนนแดง  เป็นโรงเรียนพร้อมใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช  ๒๕๕๑  จัดการเรียนการสอนตามมาตรฐานการเรียนรู้ ในกลุ่มสาระการเรียนรู้พื้นฐาน  ๘  กลุ่มสาระการเรียนรู้

                พ.ศ. ๒๕๕๓  โรงเรียนบ้านโนนแดง  ผ่านการประเมินให้เป็นต้นแบบโรงเรียนดีใกล้บ้าน  โรงเรียน   ในฝัน รุ่นที่  ๒  จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน   กระทรวงศึกษาธิการ

                พ.ศ. ๒๕๕๓ นายคณิต   ธัญญะภูมิ    ผู้อำนวยการโรงเรียน   ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งที่โรงเรียนสุนทรวัฒนา  อำเภอเมืองชัยภูมิ  และทางราชการได้สั่งให้   นายสิทธิชัย   จินชัย   ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านกุดยาง มาดำรงตำแหน่งที่โรงเรียนบ้านโนนแดง   เมื่อเดือน  พฤศจิกายน    ๒๕๕๓   จนถึงปัจจุบัน

               พ.ศ. ๒๕๖๒  นายสิทธิชัย  จินชัย ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโนนแดง ได้ถึงวาระเกษียณอายุราชการ ในวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ ๒๕๖๒  และทางศึกษาธิการจังหวัดชัยภูมิ ได้ดำรงแต่งตั้ง นางรุ่งอรุณ  โตชัยภูมิ  ผู้อำนวยการโรงเรียนห้วยน้ำคำ มาดำรงตำแหน่งที่โรงเรียนบ้านโนนแดง เมื่อ เดือนธันวาคม พ.ศ.  ๒๕๖๒ จงถึงปัจจุบัน